บันทึกความทรงจำของแฟร์เนา เมนเดซ ปินโต ( Fernao Mendez Pinto ค.ศ.1509-1583) เรื่อง Peregrinacao ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในปีค.ศ.1614 เป็นเรื่องเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ ประเพณี ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และเหตุการณ์บ้านเมืองต่างๆ รวมทั้งอัตชีวประวัติของเขาอย่างน่าตื่นเต้นและเหลือเชื่อ จนมีการใช้ชื่อของปินโตเล่นคำเชิงล้อเลียนว่าพูดจริงหรือเท็จอย่างสนุกสนาน โดยชนชาติศัตรูของโปรตุเกสในยุโรปหรือแม้แต่ชาวโปรตุเกสบางคน บันทึกของปินโตถูกอ้างอิงจากนักประวัติศาสตร์ไทยอย่างกว้างขวางนับตั้งแต่ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพมาจนปัจจุบันเมื่อกล่าวถึงบทบาทของทหารรักษา พระองค์ชาวโปรตุเกส และการพระราชทานที่ดินให้พวกเขาตั้งถิ่นฐานและปฏิบัติศาสนพิธีในสมัยอยุธยา จึงเป็นที่มาของนิยายผจญภัย
ปินโตเป็นชาวเมืองมองเตอมูร์เก่า เกิด ในราชอาณาจักรโปรตุเกส ครอบครัวมีฐานะยากจน ชีวิตของเขาตกอยู่ในอันตรายจนต้องหลบหนีลงเรือจากเมืองกูแอ ดึ แปดรา (Cue de Pedra) การผจญภัยของปินโตเริ่มขึ้นเมื่อเดินทางไปถึงเมืองดิว (Diu)ขณะมีอายุได้ 28 ปี เขาเดินทางกลับมาตุภูมิเมื่อวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1558 รวมเป็นเวลา 21 ปีของการแสวงโชคในเอเชีย ปินโตเคยเดินทางไปในเอธิโอเปีย จีน อาณาจักรของชาวตาร์ตาร์ (Tataria) โคชินไชนา สยาม พะโค ญี่ปุ่น และหมู่เกาะอินเดียตะวันออกในน่านน้ำอินโดนีเซียปัจจุบัน ปินโตเคยเดินทางเข้าสยาม 2 ครั้ง (กรมวิชาการ, 2531 : 115) ครั้งแรกเข้ามาในปัตตานีและนครศรีธรรมราชก่อนค.ศ.1548 ครั้งที่ 2 เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ค.ศ.1534-1546) ปินโตเคยเผชิญปัญหาเรืออับปาง 5 ครั้ง ถูกขาย 16 ครั้งและถูกจับเป็นทาสถึง 13 ครั้ง และ ใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองปรากัลป์ (Pragal) ทางใต้ของโปรตุเกส โดยเขียนหนังสือชื่อ peregrinacaoขึ้น และถูกตีพิมพ์หลังจากเขาถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1583 และได้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1614 และแปลเป็นภาษาต่างๆ อาทิ ภาษาฝรั่งเศส (1628) ภาษาอังกฤษ (1653) ใน ค.ศ.1983 กรมศิลปากรได้เผยแพร่บันทึกของปินโตบางส่วนในชื่อ "การท่องเที่ยวผจญภัยของแฟร์นังด์ มังเดซ ปินโต ค.ศ1537-1558" แปลโดยสันต์ ท. โกมลบุตร
การเล่าเรื่องการเดินทางของเขามีจุดมุ่งหมาย เพื่อ ให้มีการเรียนรู้สภาพภูมิศาสตร์ของโลกให้มากยิ่งขึ้น ไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความท้อถอยในการติดต่อกับดินแดนแถบเอเชีย เขาระบุว่าอุทิศการทำงานให้แก่พระเจ้าไม่ได้หวังชื่อเสียง สิ่งที่ผลักดันให้เขาเดินทางไปยังตะวันออก คือ ธรรมชาติของลูกผู้ชาย เขาแสดงความขอบคุณพระเจ้าและสวรรค์ที่ช่วยให้รอดพ้นจากภยันตรายมาได้บันทึก ของปินโตนับเป็นเอกสารสำคัญที่กล่าวถึงเรื่องราวส่วนหนึ่งเกี่ยวกับทรัพยากร การทหาร วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ กฎหมายและเรื่องราวในราชสำนักสยามกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 กล่าวว่า “ชาวต่างประเทศทุกๆชาติที่ไปร่วมรบกับกษัตริย์สยามนั้นต่างก็ได้รับคำมั่น สัญญาว่าจะได้รับบำเหน็จรางวัล การยกย่อง ผลประโยชน์ ความชื่นชมและเกียรติยศชื่อเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะได้รับอนุญาตให้สร้างโบสถ์ เพื่อการปฏิบัติศาสนกิจในแผ่นดินสยามได้....” งานเขียนปินโตบางส่วนมีรูปแบบเป็นจดหมายติดต่อกับบุคคล (Campos,1940,P.21) ดังนั้นจึงไม่ควรมองข้ามความแม่นยำของเวลา (Timing) จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่าบันทึกของปินโตเป็นนิยาย ผจญภัยมากกว่าการเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์นิพนธ์ เนื่องจากเขาได้บอกถึงประวัติ การเดินทางไปยังดินแดนต่างๆ รวมถึงการไปพบเจอสิ่งต่างๆที่ได้เกิดขึ้นกับตัวเขาเองด้วยจึงเป็นข้อสรุปตาม ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น